องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยไผ่ อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง : www.huaypai.go.th

 
 
สถานที่ท่องเที่ยว

ประวัติวัดยาง

วัดยางตั้งอยู่ที่บ้านห้วยไผ่ เลขที่ 115 หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยไผ่  อำเภอแสวงหา  จังหวัดอ่างทอง  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัดที่สร้างขึ้นนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2360 ต่อมาได้กลายสภาพเป็นวัดร้าง กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศยกสภาพเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 วัดยางถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่ สมัยศึกบางระจัน เสนาสนะ ที่หลงเหลือมีเพียงวิหารฐานอ่อนโค้งอยู่ในสภาพปรักหักพัง ไม่มีหลังคา พระพุทธรูปศาลาทราย ต่อมา พ.ศ.2535 คณะสงฆ์จังหวัดอ่างทองได้มอบหมายให้ พระครูปกาสิตธรรมคุณ (หลวงพ่อสุวรรณ ถิรสทฺโธ) บูรณปฏิสังขรณ์วัดยาง


 

ประวัติวัดหลวงวัง

วัดหลวงวัง เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา  และต่อมาได้มีการการขอยก วัดหลวงวัง (ร้าง) จังหวัดอ่างทอง ขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑๘/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า จังหวัดอ่างทองได้มีหนังสือ ที่ อท ๐๐๓๐/๑๓๐๓๒ ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๑ แจ้งว่า ได้ส่งรายงานการขอยก วัดหลวงวัง (ร้าง) ตำบลห้วยไผ่ อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา โดย พระราชรัตนสุธี ผู้แทน เจ้าคณะใหญ่หนกลาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คือ นางฐิติรัตน์ ลำดวน นางสาลี่ รัตนวรรณวิมล และนายวิสันต์ อินทะกูล ได้ไปตรวจสอบแล้ว มีความเห็นสรุปดังนี้ วัดหลวงวัง (ร้าง) ตั้งอยู่ที่ บ้านห้วยไผ่ หมู่ที่ ๔ ตำบลห้วยไผ่ อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ที่ดินของวัดมีจำนวน ๒ แปลง แปลงที่ ๑ เนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๑ งาน ๑๗ ๗/๑๐ ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗๐๙ เป็นที่ตั้งอาคารเสนาสนะ และแปลงที่ ๒ เนื้อที่ ๘ ไร่ ๒ งาน ๘๕ ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๓๑๕ เป็นที่ธรณีสงฆ์ อาคารเสนาสนะที่สร้างแล้ว คือ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ๔ หลัง วิหาร และ หอระฆัง

มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ๔ รูป

ระยะห่างจากวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาในละแวกใกล้เคียง

- ทิศเหนือ ห่างจากวัดโพธิ์เก้าต้น จ.สิงห์บุรี ประมาณ ๓ กิโลเมตร

- ทิศใต้ ห่างจากวัดพวงทอง ประมาณ ๕ กิโลเมตร

- ทิศตะวันออก ห่างจากวัดยาง ประมาณ ๑.๗ กิโลเมตร

- ทิศตะวันตก ห่างจากวัดประดับ จ.สิงห์บุรี ประมาณ ๓ กิโลเมตร

มีประชาชนให้การสนับสนุนทำนุบำรุงวัด ประมาณ ๓,๕๐๐ คนเหตุผลกรณีที่ตั้งอยู่ห่างจากวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาไม่ถึง ๒ กิโลเมตร

เนื่องจากวัดหลวงวัง (ร้าง) เป็นวัดเก่าแก่กว่า ๑๐๐ ปี และร้างมานานแล้ว และ วัดยางเป็นวัดใหม่ซึ่งตั้งอยู่บ้านเดียวกันมีประชาชนหนาแน่น ประกอบกับวัดหลวงวัง (ร้าง) ตั้งอยู่ติดเขตจังหวัดสิงห์บุรี จึงมีประชาชนชาวจังหวัดสิงห์บุรีมาร่วมประกอบกิจกรรมทางศาสนาเป็นประจำ การขอยกวัดหลวงวัง (ร้าง) จังหวัดอ่างทอง ขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ดังกล่าว ได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองและเจ้าคณะพระสังฆาธิการเจ้าสังกัดตามลำดับจนถึงเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และพระพรหมเวที ผู้พิจารณากลั่นกรองการขอยกวัดร้างฯ ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว พร้อมกับมีบัญชาให้นำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา ที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบให้ยก วัดหลวงวัง (ร้าง) ตำบลห้วยไผ่ อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา พร้อมทั้งให้เจ้าอาวาสขวนขวายให้มีพระภิกษุอยู่จำพรรษามากกว่า ๔ รูป เพื่อจะได้ทำสังฆกรรมบางประเภทตามที่พระวินัยกำหนดจำนวนพระภิกษุไว้ได้


 

ประวัติวัดเขาบวช

            วัดเขาบวชตั้งอยู่บ้านห้วยไผ่ หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยไผ่  อำเภอแสวงหา  จังหวัดอ่างทอง  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่ 21 ไร่ 3 งาน 23 ตารางวา พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ

  วัดเขาบวชสร้างขึ้นเป็นวัดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้กลายสภาพมาเป็นวัดร้าง ประชาชนได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2425 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้วในราว พ.ศ.2442 มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมมาตลอด

เจ้าอาวาสที่ทราบนามมี 3 รูป คือ

รูปที่ 1 พระอธิการเฟือง

รูปที่ 2 พระอธิการทรง ไพรวรรณ์ ราว พ.ศ.2473 เป็นผู้ดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นในวัด            

         ปัจจุบัน โรงเรียนได้ย้ายออกไปอยู่ในที่ที่ได้จัดซื้อขึ้นใหม่

รูปที่ 3 พระครูปัญญาภิรักษ์ (ตะล่อม สปฺปญโญ) ดำรง ตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ.2518 

รูปที่ 4 พระครูพัฒนาวรานุสิษฐ์  ดำรง ตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ.2538-2553 

รูปที่ 4 พระใบฎีกาสนั่น สุทฺธสีโล  ดำรง ตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ.2553  ถึงปัจจุบัน