ประวัติตำบลห้วยไผ่
ตำบลห้วยไผ่ ตั้งอยู่บนสองฝั่งลำน้ำธรรมชาติสายหนึ่ง แต่เดิมลำน้ำสายนี้มีต้นไผ่ป่าขึ้นอยู่ทั่วไปเป็นจำนวนมากตลอดสาย ด้วยเหตุนี้ลำน้ำธรรมชาติและชุมชนสองฝั่งลำน้ำจึงได้ชื่อว่า “ลำน้ำห้วยไผ่” ชุมชนห้วยไผ่เป็นชุมชนเก่าแก่ สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีหลักฐานสำคัญ ได้แก่ วัดไทร วัดหลวงวัง ซึ่งมีการขุดพบวัตถุโบราณในบริเวณวัดดังกล่าว อันแสดงถึงการตั้งถิ่นฐาน ของชาวชุมชนแห่งนี้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายพื้นที่ตำบลห้วยไผ่เป็นสนามรบป้องกันการรุกรานของทัพพม่า ถึง 7 ครั้ง ปัจจุบันปรากฏหลักฐานธรรมชาติ คือ ต้นสะตือใหญ่ (บริเวณทิศใต้ของหมู่ที่ 3 หมู่บ้านห้วยไผ่เหนือ) พม่าเข้าตีค่ายบางระจันครั้งที่ 4 ชาวบ้านห้วยไผ่รวมกับชาวบ้านบางระจันได้ยกกำลังออกตั้งรับ ต่อสู้ทัพพม่าจนได้รับชัยชนะและฆ่าสุรินทร์จอฉ่องแม่ทัพพม่าจนตาย ณ ต้นสะตือใหญ่ หลังจากสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านห้วยไผ่ ต้องอพยพภัยสงครามไปที่อื่น ต่อมาภายหลังได้มีชาวบ้านเข้ามาบุกเบิกที่ดินทำกิน ตั้งเป็นชุมชนขึ้นใหม่และทางราชการได้ยกฐานะ ชุมชนห้วยไผ่เป็น ตำบลห้วยไผ่ เมื่อปี พ.ศ.2490 และด้วยเหตุผลที่สภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีลำน้ำ (คลองใหญ่) ไหลผ่านจึงเหมาะสำหรับทำการเกษตร ดังนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ จึงมีอาชีพทำนา และทางราชการได้กำหนดให้ตำบลห้วยไผ่เป็นเขตจัดรูปที่ดินทั้งตำบล
|